24
Jul
อัปเดตมุมมอง พร้อมกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง 2023 : หากตลาดเป็นใจ เราเตรียมไม้ตายไว้แล้ว l odini BLACK Ultimate Allocation
Comments
กลยุทธ์ครึ่งปีหลัง หากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมิได้มีความรุนแรงมากนัก พอร์ตมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนตราสารทุนเพิ่มเติม (โดยปรับลดกองทุนตราสารหนี้ไทยลง) โดยมีการพิจารณาทั้งในส่วนของหุ้นโลก อินเดีย ญี่ปุ่น กลุ่ม Thematic ที่มีแนวโน้มทางธุรกิจดีเช่น AI หรือ Semiconductor หากราคาที่เข้าซื้อมีความน่าสนใจ โดยอาจเพิ่มสัดส่วนตราสารทุนจาก 50% เป็น 60%
ปัจจุบันพอร์ตมีสัดส่วนค่อนข้างสมดุล โดยมีตราสารหนี้ประมาณ 45% แบ่งเป็นตราสารหนี้โลก 25%และตราสารหนี้ไทย 20% เพื่อผลตอบแทนที่มั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะที่เสริมกองทุนทองคำเล็กประมาณ 5% เพื่อกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและสงคราม ในขณะที่กองทุนหุ้นมีสัดส่วน 50% โดยกระจายการลงทุนทั้งในกลุ่มหุ้นเติบโต กลุ่ม Defensive เช่นโครงสร้างพื้นฐานและ Healthcare กลุ่มพลังงานและพลังงานทดแทน รวมถึงหุ้นในประเทศจีนและเวียดนาม โดยกลุ่มหุ้นเติบโตและเวียดนามมีการฟื้นตัวก่อนกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่กลุ่ม Defensive ภาพรวมยังคงแข็งแกร่งแม้จะมีความกังวลทางเศรษฐกิจ
ตลาดหุ้นเวียดนาม: ยังระวังเรื่องผิดนัดชำระหนี้ ประเมินเป็นโอกาสที่ดีหากตลาดลงแรง
ดัชนีตลาดหุ้น Vietnam Index มีการฟื้นตัวจากระดับ 1000 จุดตอนต้นปี มาที่ 1120 จุดเนื่องจากความเข้มงวดของภาครัฐในการควบคุมตลาดหุ้นกู้และอสังหาริมทรัพย์คลี่คลายลง การปรับลดดอกเบี้ยกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ และความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเวียดนามยังคงตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 6.5% และยังคงได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่เวียดนามในระยะยาว
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเวียดนามในระยะสั้นเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก สะท้อนผ่านการส่งออกและการนำเข้าที่ลดลง 6-20% ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ภาคการผลิตเริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตามภาคการบริโภคยอดค้าปลีกยังคงเติบโตดีในระดับประมาณ 11% และภาวะเงินเฟ้อเริ่มควบคุมได้ที่ 2-3% การเติบโต GDP ในไตรมาส 1 อยู่ที่ 3.3%
พอร์ตมีการเพิ่มสัดส่วนเวียดนามเล็กน้อยจาก 6% เป็น 7% ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยยังคงระมัดระวังความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์เวียดนามและมาตรการภาครัฐ และอาจเพิ่มสัดส่วนอีกหากตลาดปรับตัวลงแรง เพื่อสะสมระยะยาว โดยกองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ที่พอร์ตมีการลงทุน ฟื้นตัวจากตลาดหุ้นเช่นกันแม้จะต่ำกว่าดัชนีเล็กน้อยซึ่งเป็นปกติของกองทุน active หากตลาดมีการปรับขึ้นไม่มากนัก
ตลาดหุ้นจีน: มองอยู่จุดต่ำสุด แต่ยังไม่ใช่จังหวะเพิ่มสัดส่วน
ดัชนีตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าภายใต้ความไม่แน่นอนของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยนโยบายภาครัฐที่เปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2021 ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเทคโนโลยี ภาคการบริโภคและการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Zero covid แม้ว่าตลาดจีนจะผ่านจุดต่ำสุดที่ 3500 จุดในเดือนตุลาคม 2022 และเริ่มตัดสินใจเปิดเมือง
การฟื้นตัวในช่วงแรกเกิดจากความอัดอั้นในการบริโภคภายหลังเจอมาตรการปิดเมืองที่เข้มข้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสแรกของปี 2023 จึงออกมาดีมาก อย่างไรก็ตามความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์จีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ สงครามการกีดกันเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี การขาดมาตการการกระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่ๆ ส่งผลให้ตลาดหุ้นอ่อนตัวลงมาอีกครั้งหนึ่ง และดูเหมือนทางการจีนจะเลือกแนวทางการประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างช้าๆ มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจและเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่และเงินเฟ้อเช่นในอดีต
พอร์ตยังคงสัดส่วนหุ้นจีนที่ 12% โดยเป็นหุ้นจีนในประเทศ A-share ประมาณ 10% และกลุ่มหุ้นจีนที่เน้นในฮ่องกงประมาณ 2% โดยเรายังคงประเมินว่าปัจจุบันเราอยู่ที่จุดต่ำสุดของหุ้นจีนทั้งภาวะเศรษฐกิจ ความคาดหวังของนักลงทุน ความสุดโต่งในการปรับใช้แนวคิด Common Prosperity การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่ำ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ต่ำ และความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯอยู่ในระดับสูงที่สุด โดยแนวโน้มเหล่านี้มีทิศทางที่อาจปรับตัวดีขึ้นในอนาคต พอร์ตยังคงเน้นถือระยะยาวเพื่อรอขายในอนาคตหากตลาดหุ้นจีนมีการฟื้นตัว และจะไม่มีการเพิ่มสัดส่วนมากกว่าปัจจุบันเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของจีนส่วนใหญ่เป็นการเมืองในประเทศและต่างประเทศซึ่งวิเคราะห์และจัดการได้ยากในการลงทุน
ตลาดตราสารหนี้: ตราสารหนี้โลกให้กระแสเงินสด เท่านั้นยังไม่หมด เพราะอาจให้ Capital gain เพิ่ม
ภาวะดอกเบี้ยโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐจะอยู่ที่ 5.00-5.25% แต่คณะกรรมการมีการให้แนวทางว่าอาจมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งภายในปลายปี ไปสู่ระดับ 5.50-5.75% เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อโดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ของสหรัฐยังคงสูงอยู่ที่ระดับ 5.3% และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงช้า
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปี 2024 หากอ้างอิงตามรายงานการประชุม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.50% และลดลงอีกในปี 2025 สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 5 และ 10 ปีที่อยู่ที่ระดับประมาณ 4.00% และไม่ปรับตัวขึ้นต่อตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
โดยแนวโน้มและมุมมองดังกล่าว พอร์ตจึงมีการซื้อตราสารหนี้โลกเพิ่มเติมที่ระดับดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 และทยอยซื้อต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 25% โดยกองทุนที่ลงทุนคือกองทุน UGIS-N ที่มีการนำเงินไปลงทุนต่อในกอง PIMCO GIS Income ปัจจุบันกองทุนมี Gross Yield to Maturity หรืออัตราผลตอบแทนของกองทุนประมาณ 7.39% ก่อนค่าใช้จ่ายกองทุนและการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน โดยกองทุนดังกล่าวคาดว่าจะมีการถือลงทุนจนได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2024-2025 เพื่อให้ราคาตราสารหนี้ได้รับ Capital gain จากการปรับตัวลดลงของ yield ในตลาด
ในขณะที่ภาพตราสารหนี้ไทยคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับดอกเบี้ยขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.00% เพื่อปรับดอกเบี้ยสู่ระดับปกติให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกและเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวกลับสู่ปกติ ขณะที่คาดการณ์ GDP ยังคงเติบโตที่ระดับ 3.6-3.8% ในปีนี้และปีหน้า ตามลำดับ
สัดส่วนตราสารหนี้ไทยที่พอร์ตลงทุน ได้แก่กองทุน KFAFIX-A และ KKP S-PLUS กองทุนละ 10% ของพอร์ตโดยรวม โดย NAV มีการปรับขึ้นสม่ำเสมอและไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ไทยบางบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสองกองทุนมีการติดตามวิเคราะห์เครดิตของหุ้นกู้เอกชนในพอร์ตที่ดี โดยสัดส่วนตราสารหนี้ไทย 20% นี้ช่วยลดความผันผวนของพอร์ต ให้ผลตอบแทนที่แน่นอน ไม่มีค่าธรรมเนียมในการซื้อเข้า-ขายออกของกองทุนตราสารหนี้ไทย และสามารถเปลี่ยนเป็นสภาพคล่องของพอร์ตเพื่อลงทุนในกองทุนอื่นของพอร์ตได้ตลอดเวลา