Spotify กับ Airbnb บริษัทระดับโลกที่ยังขาดทุน แต่มีมูลค่ามหาศาล

Spotify กับ Airbnb บริษัทระดับโลกที่ยังขาดทุน แต่มีมูลค่ามหาศาล

 

Spotify กับ Airbnb บริษัทระดับโลกที่ยังขาดทุน แต่มีมูลค่ามหาศาล
.
ถ้าให้ยกตัวอย่างบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มระดับโลกชื่อดัง หลายคนอาจนึกถึง Spotify และ Airbnb
เพราะหลายคนคงเป็นสมาชิก Spotify Premium
หรือบางคนอาจเคยจองที่พักผ่าน Airbnb และถ้าคุณกำลังคิดว่า 2 บริษัทระดับโลกนี้ กำลังทำกำไรมหาศาลในแต่ละปี
.
ก็ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าว่า คุณกำลังคิดผิด..
แต่.. ความเป็นจริงคือ สองบริษัทนี้ยังคงขาดทุนอยู่
และขาดทุนติดต่อกันมาหลายปีแล้วด้วย
.
Spotify เจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลง พอดแคสต์
.
ปี 2017 รายได้ 150,100 ล้านบาท ขาดทุน 44,800 ล้านบาท
.
ปี 2018 รายได้ 190,700 ล้านบาท ขาดทุน 2,800 ล้านบาท
.
ปี 2019 รายได้ 204,700 ล้านบาท ขาดทุน 6,700 ล้านบาท
.
ปี 2020 รายได้ 290,536 ล้านบาท ขาดทุน 21,400 ล้านบาท
.
Airbnb เจ้าของแพลตฟอร์ม ที่ให้คนมาปล่อยห้องให้เช่า และเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาหาห้องพัก
.
ปี 2017 รายได้ 76,900 ล้านบาท ขาดทุน 2,100 ล้านบาท
.
ปี 2018 รายได้ 109,600 ล้านบาท ขาดทุน 506 ล้านบาท
.
ปี 2019 รายได้ 144,200 ล้านบาท ขาดทุน 20,200 ล้านบาท
.
ปี 2020 รายได้ 102,000 ล้านบาท ขาดทุน 138,000 ล้านบาท
.
สำหรับ Airbnb ที่รายได้ลดลงในปีล่าสุด เป็นเพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้คนออกเดินทางน้อยลง และที่ Airbnb ขาดทุนมากถึงหลักแสนล้าน ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในการให้หุ้นแก่พนักงานเมื่อตอนที่บริษัท IPO เข้าตลาดหุ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา
.
แต่ถึงแม้จะขาดทุนหนัก สองบริษัทนี้ก็ได้รับการตีมูลค่าตามราคาตลาด (Market capitalization) เอาไว้สูงมาก
– Airbnb มีมูลค่าประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท
– Spotify มีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท
.
แล้วทำไม บริษัทที่ยังไม่ทำกำไรสองบริษัทนี้ กลับมีมูลค่ามากขนาดนี้ ?
.
สาเหตุหลักๆ ก็เป็นเพราะว่า บริษัทเหล่านี้ ต้อง “เผาเงิน” หรือทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อดึงให้คนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น Spotify ที่ต้องทุ่มเงินพัฒนา Algorithm เพื่อให้แนะนำเพลงให้ผู้ใช้งานได้ดีที่สุด หรือ Airbnb ที่ต้องทุ่มเงินพัฒนาแพลตฟอร์ม ให้ผู้ใช้งานหาที่พักตามต้องการได้ง่ายที่สุด
.
นอกจากนั้นแล้ว บริษัทยังต้องทุ่มงบประมาณเพื่อดึงให้คนเข้ามาใช้งาน อย่างเช่น Spotify ที่คิดค่าบริการถูกเป็นพิเศษสำหรับสมาชิกใหม่ใน 3 เดือนแรก
หรือ Airbnb ที่เสนอส่วนลดให้ผู้ใช้งานใหม่ ให้จองที่พักได้ถูกลง ดึงดูดผู้ใช้งานให้เข้ามาจองที่พักผ่าน Airbnb
.
ซึ่งต้นทุนที่บริษัทต้องเสียไปทั้งหมดจำนวนมากนี้ ก็เลยทำให้ธุรกิจยังคงขาดทุนหนักในตอนนี้นั่นเอง
แล้วทำไม บริษัทขาดทุนหนัก แต่กลับถูกให้มูลค่ามหาศาล ? ก็เพราะว่า นักลงทุนมองต่างมองไปในอนาคตแล้วว่า ธุรกิจแพลตฟอร์ม ลงทุนพัฒนาแค่แพลตฟอร์มเดียว ก็สเกลให้คนใช้งานได้ทั่วโลก ไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น อย่างเช่น สวนสนุกที่ถ้า ต้องการขยายไปต่างประเทศ ก็ต้องไปสร้างสวนสนุกแห่งใหม่ในต่างประเทศ และพวกเขาก็คาดว่าในวันข้างหน้า จะมีคนอีกมากเข้ามาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้นอีกมาก
.
แล้วบริษัทก็จะสามารถสร้างรายได้มหาศาล จากผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้น และจะสามารถทำกำไรได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น สิ่งนักลงทุนสนใจในตอนนี้ จึงอาจไม่ใช่กำไรบรรทัดสุดท้าย แต่เป็น ตัวเลขที่สะท้อน “การเติบโต” และ “ความนิยม” ของแพลตฟอร์ม ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็อย่างเช่น
– การเติบโตของรายได้ (Revenue Growth)
– ยอดผู้ใช้งานต่อเดือน หรือ Monthly Active Users (MAUs)
– จำนวนคืน (Annual night booked) ที่ที่พักถูกจองผ่านแพลตฟอร์ม Airbnb
.
ถ้าตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นดีและต่อเนื่อง ก็หมายความว่า ธุรกิจกำลังโตได้ดี อย่างเช่น Spotify ที่รายได้ 4 ปีย้อนหลังโตเฉลี่ยปีละ 32% และยอดผู้ใช้งานต่อเดือน เติบโตขึ้นมากกว่าเท่าตัว ภายในเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือ Airbnb ที่รายได้ปี 2017-2019 โตเฉลี่ยปีละ 143% และมีจำนวนคืนที่ที่พักถูกจองผ่านแพลตฟอร์ม เพิ่มขึ้นจาก 185.8 ล้านคืนในปี 2017 เป็น 326.9 ล้านคืน ในปี 2019 ซึ่งถือว่าเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดเช่นกัน
.
สรุปแล้วก็คือ ที่ธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังขาดทุนหนักอยู่ก็เป็นเพราะว่าธุรกิจเหล่านี้กำลังเผาผลาญเงินมหาศาล เพื่อแลกกับการเติบโตของธุรกิจ ทั้งในแง่ของรายได้ และจำนวนผู้ใช้งาน และที่บริษัทเหล่านี้ ถูกให้มูลค่ามหาศาล ก็เป็นเพราะว่า นักลงทุนมองว่า Spotify และ Airbnb ต่างเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ที่สามารถเข้าถึงคนทั่วโลกได้ไม่ยาก และนักลงทุนก็เข้าใจดีว่า ที่บริษัทยอมขาดทุน ก็เพื่อให้ธุรกิจเติบโต และสามารถทำกำไรได้ในอนาคต
.
ส่วนหน้าที่ของบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้
ก็คือต้องพิสูจน์ว่า ธุรกิจมูลค่าล้านล้านของพวกเขา
เหมาะสมกับมูลค่าที่นักลงทุนให้ไว้มหาศาลนี้ ทั้งที่บริษัทยังขาดทุนอยู่ หรือไม่..
.
No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.