ลดปัญหาการลงทุนผิดจังหวะ ด้วยเทคนิค DCA

ลดปัญหาการลงทุนผิดจังหวะ ด้วยเทคนิค DCA

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวะการลงทุนที่ดี สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเราได้
แต่.. ถ้าเรายังไม่เชี่ยวชาญในเรื่องจังหวะของการลงทุน
เทคนิค “DCA” ก็ถือเป็นเทคนิคที่น่าสนใจ..

.

DCA คืออะไร? แล้วจะช่วยลดความเสี่ยงด้านจังหวะการลงทุนของเรา ได้อย่างไร?

.

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก DCA กันก่อน

.

DCA ย่อมาจากคำว่า Dollar Cost Averaging
หรือเรียกว่า “การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน”

.

การลงทุนแบบ DCA ทำได้โดยการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง ด้วยจำนวนเงินลงทุนเท่าๆ กัน ตามรอบระยะเวลาการลงทุน อย่างสม่ำเสมอ

.

ยกตัวอย่างเช่น
การลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวม A จำนวน 1,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน
แบบนี้หมายความว่า ทุกๆ เดือน เงินจำนวน 1,000 บาทของเรา
จะถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวม A อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

.

ประเด็นก็คือ การลงทุนแบบ DCA ไม่ได้ให้ความสำคัญด้านราคาต่อหน่วยลงทุน
เพราะ “ราคาต่อหน่วยลงทุน” และ “จำนวนหน่วยลงทุน” นั้น
จะถูกสะท้อนภายใต้จำนวนเงินทุนเท่าๆกันในแต่ละเดือนไปเรียบร้อยแล้ว

.

หมายความว่า เดือนไหนที่ราคาต่อหน่วยลงทุนสูงขึ้น เราก็จะได้จำนวนหน่วยลงทุนที่น้อยลง
และเดือนไหนที่ราคาต่อหน่วยลงทุนถูกลง เราก็จะได้จำนวนหน่วยลงทุนที่มากขึ้น

.

ยกตัวอย่างเช่น
ภายใต้เงินลงทุน 1,000 บาทต่อเดือน
หากหน่วยลงทุนราคา 20 บาท ก็จะซื้อได้ 50 หน่วยลงทุน
หากหน่วยลงทุนราคา 40 บาท ก็จะซื้อได้ 25 หน่วยลงทุน

.

จุดนี้เองที่ทำให้ DCA สามารถถัวเฉลี่ยต้นทุนได้
โดยที่นักลงทุนไม่ต้องคอยจับจังหวะเข้าออกการลงทุน

.

และด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้ DCA ช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนในแต่ละช่วงได้นั่นเอง

.

แล้ว DCA ยังมีข้อดีอะไรอีกบ้าง?

.

จุดเด่นอีกเรื่องของการลงทุนแบบ DCA คือ “ความสม่ำเสมอ”
เพราะถ้าเราลงทุนแบบนี้ ระบบก็จะทำการตัดเงินจากบัญชีของเรา
เพื่อไปลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์นั้นเป็นประจำทุกเดือน หรือทุกรอบความถี่ที่เรากำหนด
ซึ่งเป็นการบังคับให้เราต้องลงทุนแบบอัตโนมัติตามที่เราได้กำหนดไว้

.

จุดนี้เองที่จะช่วยสร้าง “วินัยการลงทุน” ให้กับนักลงทุนมือใหม่ได้

.

อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ DCA ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

.

เนื่องจาก DCA เป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง
ซึ่งหากเราเลือกสินทรัพย์ที่จะไปลงทุนผิดพลาด แล้วยังคงลงทุนต่อไปเรื่อยๆ
ก็จะมีโอกาสทำให้พอร์ตการลงทุนของเราขาดทุนได้

.

เช่น การลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวมกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity)
เช่น กลุ่มน้ำมัน, กลุ่มถ่านหิน, กลุ่มยางมะตอย และกลุ่มเดินเรือ

.

ถ้าหากเราเข้าไปลงทุนในช่วงที่ธุรกิจเหล่านี้เป็นช่วงขาลง
แล้วราคาต่อหน่วยของกองทุนรวมนั้นลดต่ำลงเรื่อยๆ
ก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนมีผลขาดทุนในที่สุด นั่นเอง

.

ดังนั้น ก่อนจะลงทุนแบบ DCA
เราก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุนทุกครั้ง

.

มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า DCA เป็นหนึ่งเทคนิคการลงทุนที่น่าสนใจ
เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงด้านจังหวะการลงทุนได้แล้ว
ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “วินัยการลงทุน” ที่ดีได้ อีกด้วย..

.

odini ยังมีคอนเทนต์เกี่ยวกับโลกการลงทุนแบบเข้าใจง่ายๆ ให้เพื่อนๆ ได้เลือกอ่านอีกมากมาย คลิกที่ลิงก์นี้กันได้เลย /odini-blog/

.

#odini #ลงทุนง่ายได้ทุกคน

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.