กรณีศึกษา “DocuSign” ธุรกิจเซ็นเอกสารออนไลน์ ที่เติบโตแรง ในช่วงวิกฤติ

กรณีศึกษา “DocuSign” ธุรกิจเซ็นเอกสารออนไลน์ ที่เติบโตแรง ในช่วงวิกฤติ

วิกฤติโควิด 19 ตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา
อาจกำลังเป็นฝันร้าย ให้กับหลาย ๆ ธุรกิจทั่วโลก

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายธุรกิจ ที่นอกจากจะไม่ได้เจอฝันร้ายแล้ว
กลับยังได้ประโยชน์จากการเกิดวิกฤติครั้งนี้ด้วย

บทความนี้ odini มีตัวอย่างบริษัทหนึ่ง
ที่เติบโตแรงในช่วงวิกฤติครั้งนี้มาฝากทุกท่าน
บริษัทนั้น ชื่อว่า “DocuSign”

แล้ว DocuSign ทำธุรกิจอะไร และทำไมถึงได้ประโยชน์ ?

DocuSign เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2003
โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน คือ Court Lorenzini, Tom Gonser และ Eric Ranft

ผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 3 คน มีความเชื่อร่วมกันว่า ต่อไปการเซ็นหรืออนุมัติเอกสาร รวมถึงการจัดการเอกสารต่าง ๆ จะถูกย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตในอนาคต

และมุมมองนี้ ก็กลายมาเป็นคอนเซปต์บริการ ของ DocuSign..

ในปัจจุบัน บริการหลัก ๆ ของ DocuSign คือ ระบบการเซ็นอนุมัติเอกสาร และระบบจัดการเอกสารออนไลน์

ยกตัวอย่างบริการของบริษัทนี้ คือ บริการ DocuSign e-Signature
ที่ให้ผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิก สามารถสร้างลายเซ็น (e-Signature) เป็นของตัวเอง

ซึ่ง e-Signature จะสามารถนำมาใช้กำกับเอกสาร
โดยเอกสารต่าง ๆ ก็สามารถถ่ายภาพ หรืออัปโหลดไฟล์ขึ้นไปบนแพลตฟอร์ม
และเมื่อกำกับเอกสารด้วย e-Signature แล้ว
ก็สามารถจัดเก็บบนแพลตฟอร์ม หรือส่งไฟล์เอกสารนั้นให้กับคนอื่นได้

ยกตัวอย่างเหตุการณ์เช่น ถ้าคุณทำงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งหนึ่งแล้วต้องการให้พนักงานในสาขาต่างจังหวัดเซ็นเอกสารหนึ่งฉบับ

เมื่อก่อน ก็อาจต้องส่งเอกสารฉบับนั้นจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขาต่างจังหวัด แล้วให้พนักงานคนนั้นเซ็นกำกับเอกสาร จากนั้นส่งกลับมายังสำนักงานใหญ่
ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ นอกจากใช้เวลานานแล้ว ยังอาจสูญเสียทรัพยากรอย่างอื่น เช่น ค่าขนส่ง

ซึ่งบริการ DocuSign e-Signature ก็จะมาตอบโจทย์ปัญหานี้
คือพนักงานคนดังกล่าวสามารถเซ็นเอกสารผ่านแพลตฟอร์มได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาส่งเอกสารไปมา

จุดเด่นของบริการของ DocuSign อีกเรื่องคือ ความปลอดภัย
โดยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสร้าง e-Signature การรับหรือส่งเอกสาร จะถูกทำการเข้ารหัส (encrypted) เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุดของผู้ใช้งาน

นอกจากนั้น บริการของ DocuSign ยังช่วยลดการใช้กระดาษ เพราะเอกสารต่างๆ สามารถเก็บไว้บนแพลตฟอร์มในรูปแบบดิจิทัลได้เลย และยังมีระบบจัดการเอกสารตามรูปแบบที่ต้องการ

ความน่าสนใจทั้งหมดนี้ ทำให้บริการของ DocuSign เริ่มได้รับความนิยม จนถูกใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป

โดยปัจจุบัน มีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มแห่งนี้แล้ว มากกว่า 100 ล้านคน
และบริษัทก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ ตั้งแต่ปี 2018

แล้ว DocuSign ทำรายได้อย่างไร และรายได้ดีแค่ไหน ?

โมเดลธุรกิจของ DocuSign คือเน้นการเก็บค่าบริการแบบ Subscription กับสมาชิกที่ใช้งานบริการบนแพลตฟอร์ม

โดยรายได้ทั้งหมดของบริษัทในปี 2019 มาจาก
– รายได้จากค่าบริการแบบ Subscription 94.3%
– รายได้จากค่าบริการอื่น 5.7%

ผลประกอบการของ Docusign, Inc.

ปี 2017 รายได้ 14,500 ล้านบาท ขาดทุน 1,570 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 19,900 ล้านบาท ขาดทุน 12,800 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 27,600 ล้านบาท ขาดทุน 6,250 ล้านบาท

จะเห็นว่า ภายใน 3 ปี รายได้ของ DocuSign โตขึ้นเกือบเท่าตัว
แต่บริษัทยังคงมีผลขาดทุนอยู่ เนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายในส่วนวิจัยและพัฒนาที่สูง ในช่วงธุรกิจกำลังเติบโต

แต่สิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 ที่ทั่วโลกต้องเจอวิกฤติโควิด 19
รายได้ของ DocuSign กลับเติบโตขึ้นอย่างมาก

โดย DocuSign มีรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 เท่ากับ 30,664 ล้านบาท
ซึ่งมากกว่ารายได้ทั้งปี 2019 และยังเติบโตจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019 ถึง 46.2%

และแม้ว่าบริษัทจะยังไม่เคยทำกำไรได้เลย แต่นักลงทุนก็มองข้ามช็อตไปแล้ว ว่ารายได้ของ DocuSign จะยังเติบโตได้อีกมาก และสุดท้ายก็คงสามารถทำกำไรได้ในที่สุด
ทำให้ในตอนนี้ บริษัท DocuSign ในตลาดหุ้น NASDAQ ถูกให้มูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

เมื่อก่อน ถ้ามีคนบอกคุณว่า จะทำธุรกิจเซ็นเอกสารออนไลน์
หลายคนก็อาจจะมองว่าคงเป็นธุรกิจที่ไม่น่าจะมีมูลค่าได้มาก

แต่มาในวันนี้ เราอาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่
เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจเซ็นเอกสาร และระบบจัดการเอกสารออนไลน์ อย่าง DocuSign
ตอนนี้ กลับมีมูลค่ามากกว่า ทุกบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสียอีก..

และเรื่องนี้มันก็ยังเป็นภาพสะท้อนว่า
ภาพของการจัดการเอกสารที่เราคุ้นเคยในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงไป
โลกอาจหันเข้าสู่ยุคไร้กระดาษ หรือ Paperless รวดเร็วขึ้น
ทุกๆ ลายเซ็น ทุกๆ เอกสารอาจถูกเก็บอยู่บนคลาวด์
เราอาจเห็นเมสเซนเจอร์วิ่งส่งเอกสาร น้อยลงเรื่อยๆ

และสุดท้าย อีกไม่นานเราก็อาจไม่คุ้นเคย
กับการหยิบปากกาขึ้นมา เพื่อเซ็นชื่อบนกระดาษ ก็เป็นได้..

#odini #ลงทุนง่ายได้ทุกคน

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.