YETI บริษัทแสนล้าน ที่ขายถังเก็บความเย็น จน IPO
สมัยนี้ถ้าลองดูบริษัทที่เรียงแถวกันจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
ก็อาจจะเห็นแต่บริษัทที่คิดค้นนวัตกรรม
หรืออย่างน้อยก็ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อปี 2018 กลับมีบริษัทขาย “Cooler” หรือ ถังเก็บความเย็น
ที่สามารถ IPO เข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ
และก็เชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกับชื่อแบรนด์นี้ดี
เพราะบริษัทนี้ มีสินค้าที่เป็นที่นิยมสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศ
คือ “แก้วน้ำเก็บอุณหภูมิ”
ที่น่าสนใจคือ บริษัทขายถังเก็บความเย็น และแก้วเก็บอุณหภูมิรายนี้
กำลังมีมูลค่าสูงถึง 187,000 ล้านบาท
ซึ่งใหญ่กว่า บริษัทอย่างโฮมโปร หรือ แม็คโคร ในไทยเราเสียอีก
เรากำลังพูดถึง YETI Holdings เจ้าของแบรนด์ “YETI”
YETI เป็นแบรนด์อุปกรณ์เอาต์ดอร์สัญชาติอเมริกัน
ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตภาชนะที่ใช้กักเก็บอุณหภูมิ
เช่น ถังเก็บความเย็น (Cooler) และ แก้วน้ำเก็บอุณหภูมิ
เรื่องราวของ YETI เริ่มต้นมาจาก
สองพี่น้องตระกูล Seiders คือคุณ Ryan และคุณ Roy
ซึ่งทั้งสองชื่นชอบการตกปลาเป็นชีวิตจิตใจ
ที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาได้ DNA ความเป็นนักธุรกิจมาจากคุณพ่อ
โดยคุณพ่อของพวกเขา ลาออกจากงานประจำ
เพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง นั่นคือ ธุรกิจผลิต “กาวสำหรับซ่อมเบ็ดตกปลา”
ซึ่งธุรกิจของคุณพ่อ ก็ยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้
พี่น้อง Seiders ที่ได้เห็นการปลุกปั้นและมองดูธุรกิจเติบโตอย่างใกล้ชิด
สุดท้ายหลังจากเรียนจบ ทั้งคู่จึงได้เดินตามรอยพ่อ
คุณ Ryan เริ่มทำธุรกิจเบ็ดตกปลาแบบสั่งทำ
ส่วนคุณ Roy เริ่มทำธุรกิจขายเรืออะลูมิเนียม สำหรับตกปลาน้ำตื้น
ต่อมา คุณ Roy Seiders มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้า
และได้ไปพบกับ ถังเก็บความเย็นจากประเทศไทย
คุณ Roy รู้สึกสนใจสินค้าชิ้นนี้ขึ้นมาทันที
เพราะคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นเวลาไปออกทริปตกปลาหรือไปตั้งแคมป์
จึงได้ติดต่อขอรับถังเก็บความเย็นนี้มาขาย
แต่ทำไปทำมา คุณ Roy ก็เริ่มรู้สึกไม่ชอบหน้าตาของสินค้า
และคิดว่าคุณภาพของถังเก็บความเย็นที่รับมาขายนั้นยังดีไม่พอ
คุณ Roy อยากให้ถังเก็บความเย็นหรือ Cooler ของเขามีความแข็งแรง ทนทาน เก็บความเย็นได้ดี เพื่อให้ทนอากาศหน้าร้อนในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขาได้
ที่สำคัญคือ เขาตั้งใจทำถังเก็บความเย็นของเขาให้เป็นสินค้าในระดับ “Hi-end”
เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการคุณภาพสินค้าในระดับสูง
เขาเริ่มจ้างบริษัทผลิตสินค้าตามที่เขาต้องการ
โดยเลือกใช้กระบวนการขึ้นรูปแบบหมุนแบบ Rotational Molding
ที่ทำให้เม็ดพลาสติกเชื่อมกันอย่างไร้ช่องว่าง
ถังเก็บความเย็นที่ได้ออกมา จึงมีความคงทน และเก็บความเย็นได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเทคนิคนี้ ก็เป็นกระบวนการผลิตเดียวกับ แบร์ริเออร์สีส้ม ที่เราเห็นกันตามท้องถนนเลยทีเดียว
คุณ Roy ตั้งชื่อแบรนด์ในตอนแรกว่า “YETI Cooler”
ก่อนจะเปลี่ยนเป็น YETI Holdings ในภายหลัง
และตั้งราคาขายถังเก็บความเย็นไว้สูงถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบหมื่นบาทไทย เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการผลิต ซึ่งก็ถือว่าสูงกว่าราคาของถังเก็บความเย็นทั่วไปในตลาดหลายเท่า
แต่ถึงแม้จะมีราคาสูง แต่สินค้าของเขาก็ขายได้
เพราะ คุณ Roy เริ่มจากการนำสินค้าไปเสนอขายให้กับบรรดานักจับปลามือโปร
ที่มีความต้องการใช้ของคุณภาพดีในการออกทริปหรือทำกิจกรรมเอาต์ดอร์
ด้วยคุณภาพในระดับ Hi-end ถังเก็บความเย็นของเขา จึงกลายเป็นไอเทมยอดนิยมในกลุ่มนักตกปลามืออาชีพ ที่ถึงแม้จะราคาสูงแต่พวกเขาก็ยอมจ่าย
หลังจากนั้นเขาจึงค่อยๆ ขยายฐานสู่ลูกค้าที่ทำกิจกรรมนอกบ้านกลุ่มอื่นมากขึ้น
จนกลายเป็นสินค้าที่สามารถจับกลุ่มคนทั่วไปได้ในที่สุด
ยอดขายที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และแบรนด์ที่เริ่มติดตลาด
ทำให้บริษัทเริ่มทำสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
จนวันนี้ สินค้าของ YETI นั้นมีหลากหลาย
อย่างเช่น แก้วน้ำเก็บอุณหภูมิ เสื้อผ้า กระเป๋า ไปจนถึง อุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง
ผลประกอบการ ของ YETI Holdings
ปี 2018 รายได้ 23,645 ล้านบาท กำไร 1,754 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 27,741 ล้านบาท กำไร 1,531 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 33,145 ล้านบาท กำไร 4,730 ล้านบาท
โดยที่ YETI Holdings สามารถเติบโตเป็นบริษัทมหาชน
และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ได้ในปี 2018
ส่วนคุณ Roy Seiders ก็นั่งตำแหน่งคณะกรรมการบริหารบริษัท
และหากย้อนกลับไปตอนที่เริ่มตั้งบริษัทใหม่ๆ
YETI เคยรายงานยอดขายในปี 2008 ไว้เพียง 90 ล้านบาท เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ YETI ที่เกิดจาก
การต่อยอดจากสิ่งที่รัก มาเป็นธุรกิจ ของคุณ Roy Seiders
และถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำธุรกิจที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำสมัย
แต่ก็สามารถเติบโตได้ จากการทำสิ่งที่มาตอบโจทย์ความต้องการของผู้คน
จน YETI ได้กลายมาเป็น บริษัทที่มีมูลค่าหลักแสนล้านบาท ในวันนี้..