odini White Paper – Thai

Odini White Paper ฉบับที่ 1 - มิถุนายน 2561

          odini คือแอปพลิเคชันสำหรับการลงทุนอัตโนมัติด้วยระบบ Robo-advisor1 ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อนำเสนอบริการด้านการลงทุนที่เหมาะสมกับคนไทย โดยที่ odini เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน โรโบเวลธ์ จำกัด (บริษัท) ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และบริษัทได้รับการรับรองในฐานะการเป็นผู้ให้บริการด้านการลงทุน ภายใต้โครงการ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน 2 จุดประสงค์ของ White Paper นี้คือการให้ข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของ odini

          แอปพลิเคชัน odini ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 โดยทีมงานซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและเทคโนโลยี โดยแอปพลิเคชันมีองค์ประกอบหลักทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ การวิเคราะห์นักลงทุน การวิเคราะห์การลงทุน และการส่งคำสั่งซื้อขายกองทุนรวมโดยอัตโนมัติ

odini ถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับหลัก 3 ประการ ดังนี้


• ง่าย แอปพลิเคชันถูกออกแบบให้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้งานได้ง่ายบนโทรศัพท์มือถือ


• สะดวก เปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องใช้กระดาษ และสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้แบบอัตโนมัติ


• น่าเชื่อถือ นำแบบจำลองการเงินชั้นนำและ AI มาปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับระบบการลงทุนในประเทศ

1 คำว่า “Robo-advisor” หมายถึง โปรแกรมให้คำปรึกษาและแนะนำด้านการลงทุนอัตโนมัติ โดยระบบ Robo-advisor จะเก็บข้อมูลที่จำเป็นของนักลงทุน ตั้งแต่วัตถุประสงค์ในการลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน รายได้และสินทรัพย์อื่น ๆ รวมทั้ง ประเมินความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ โดยการให้ผู้ลงทุนทำแบบประเมินออนไลน์ และระบบจะแนะนำและบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุนแต่ละราย 2 โครงการ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน เป็นโครงการภายใต้การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางในการลงทุนและการวางแผนการลงทุนแก่ผู้ลงทุนทั่วไปในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนที่ 1 การวิเคราะห์นักลงทุน

          คนไทยส่วนใหญ่มักจะลงทุนในเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แม้จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคง แต่การลงทุนในลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน อาจต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว odini มุ่งหวังที่จะจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว โดยการสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีผลตอบแทนที่คาดหวัง สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้

          ในทุกเดือน odini จะมีการวิเคราะห์และปรับเปลี่ยน (Rebalance) พอร์ตการลงทุนทั้งหมด 5 พอร์ต เพื่อให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในขณะที่ยังสามารถคงอัตราผลตอบแทนเป้าหมายเอาไว้ได้ จุดประสงค์หลักของการวิเคราะห์นักลงทุน คือการแนะนำพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดให้กับนักลงทุนแต่ละคน ดังนั้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นักลงทุนจึงต้องทำแบบสอบถามเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายของการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ และระยะเวลาที่คาดว่าจะลงทุน

พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน

          ในกรณีที่นักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้สูง พอร์ตของนักลงทุนจะมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม พอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะมีผลขาดทุนบ้างในระยะสั้น เนื่องจาก สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมักจะให้ผลตอบแทนที่ผันผวน ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวสามารถลดลงได้ด้วยการขยายระยะเวลาการลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนของตราสารทุนในตลาดมักจะอยู่ในรูปแบบ Mean-reversion3

3 Mean-reversion คือทฤษฎีที่อธิบายถึงผลตอบแทนในระยะยาวของสินทรัพย์ ว่ามักมีแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตของสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ

ส่วนที่ 2 การจัดสัดส่วนการลงทุน

          การจัดสัดส่วนการลงทุนเป็นการจัดน้ำหนักของสินทรัพย์แต่ละประเภท ให้เหมาะสมกับนักลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ และระยะเวลาในการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน ซึ่ง odini แบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็น 5 ประเภท ตามระดับความเสี่ยง ได้แก่ พอร์ตความเสี่ยงต่ำ พอร์ตความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ พอร์ตความเสี่ยงปานกลาง พอร์ตความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง และพอร์ตความเสี่ยงสูง

          วัตถุประสงค์หลักของการจัดสัดส่วนการลงทุนคือการลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้ต่ำที่สุด โดยมีผลตอบแทนเป้าหมายตั้งแต่ 4% ต่อปีในพอร์ตความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึง 12% ต่อปีในพอร์ตความเสี่ยงสูง ซึ่งการคำนวณความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนนั้นจะใช้ Conditional Value-at-Risk (CVaR) ที่คำนึงถึง Tail Risk เป็นตัวแทนของมาตรวัดความเสี่ยง กระบวนการคำนวณนี้จะเริ่มจากการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในระดับการกำหนดสัดส่วนการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Asset Allocation (SAA)) เพื่อเป็นแกนหลักของพอร์ตการลงทุน (Core Portfolio) ในระยะยาว ซึ่งประกอบด้วยตราสารหนี้และตราสารทุนภายในประเทศ

          จากแผนภาพข้างต้น หากนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนต้องสูงขึ้นตาม ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นด้วย เนื่องจากราคาของตราสารทุนมักจะมีความผันผวนในระยะสั้น ตารางถัดไปจะแสดงถึงข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ปี 2007 ถึงปี 2017 ของแต่ละพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยง เมื่อใช้สัดส่วนการลงทุนที่ได้จากการกำหนดสัดส่วนการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์

ผลตอบแทนต่อปีย้อนหลังของพอร์ตการลงทุนหลัก (Core Portfolio) ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2017

          แม้ว่าพอร์ตความเสี่ยงต่ำจะสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ทุกปี แต่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate (CAGR)) เพียง 4.11% ต่อปี เนื่องจากพอร์ตความเสี่ยงต่ำมีสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้มากถึง 94.40% เมื่อเทียบกับพอร์ตความเสี่ยงสูงที่มี CAGR ถึง 10.79% ในระยะยาว แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่มีผลขาดทุนสูงสุดถึง -32.74% ในปี 2008 ซึ่งเกิดจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ผลขาดทุนนี้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ทั้งหมดในระยะเวลาเพียง 1 ปีหลังจากนั้น และกลับมามีผลกำไรต่อเนื่องถึง 4 ปี

          แผนภาพด้านล่างแสดงมูลค่ารายเดือนของพอร์ตการลงทุนหลัก (Core Portfolio) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของความเสี่ยงและผลตอบแทน โดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพอร์ตความเสี่ยงต่ำและพอร์ตความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ จะมีการเติบโตที่ค่อนข้างมั่นคงมากกว่าพอร์ตการลงทุนอื่น ๆ ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้น้อย ส่วนพอร์ตความเสี่ยงสูงและพอร์ตความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง ยังต้องเผชิญกับการขาดทุนในปี 2011 2013 และ 2015 นอกเหนือจากการขาดทุนในช่วงวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008

มูลค่าย้อนหลังของพอร์ตการลงทุนหลัก (Core Portfolio) ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2017

          ขั้นตอนถัดมาในการจัดสัดส่วนการลงทุน คือการกำหนดสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาด (Tactical Asset Allocation (TAA)) ซึ่งจะทำการกระจายน้ำหนักการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ตามมุมมองที่มีต่อสภาวะตลาด โดยที่สัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาด (Tactical Asset Allocation (TAA)) ที่ระบบคำนวณได้นั้น จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการการลงทุน (Investment Committee) ของบริษัทก่อนที่จะนำไปใช้งานต่อไป โดยที่แผนภาพถัดไปจะแสดงถึงประเภทของสินทรัพย์ทั้งหมดที่อาจมีการลงทุน รวมถึงดัชนีที่ใช้อ้างอิง (Benchmark) ของสินทรัพย์นั้น ๆ

ประเภทของสินทรัพย์ที่จะมีการลงทุนและดัชนีอ้างอิง (ดัชนีผลตอบแทนรวม)

          ตารางถัดมาแสดงถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภท พบว่าตราสารทุนในประเทศและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นได้สูงสุดถึง 12.92% และ 10.07% ตามลำดับ

ผลตอบแทนย้อนหลังของสินทรัพย์แต่ละประเภท ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2017

          จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 11 ปี จะสังเกตได้ว่ามีเพียง 3 ปีเท่านั้นที่สินทรัพย์ทุกประเภทมีผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด และสำหรับนักลงทุนไทย การกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น สามารถช่วยลดผลกระทบจากผลขาดทุนในช่วงปี 2013 และ 2015 ได้ โดยที่ตารางต่อไปจะแสดงถึงความสัมพันธ์ (Correlation) ของผลตอบแทนระหว่างสินทรัพย์แต่ละประเภท ซึ่งคำนวณจากผลตอบแทนรายเดือนตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2017

ตารางแสดงค่าระดับความสัมพันธ์ (Correlation Matrix) ของผลตอบแทนรายเดือน ระหว่างสินทรัพย์แต่ละประเภทตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2017

          แบบจำลองเชิงปริมาณ (Quantitative Model) ของ odini จะกำหนดและปรับเปลี่ยนสัดส่วน TAA ของสินทรัพย์แต่ละชนิดตามสภาวะเศรษฐกิจและมุมมองต่อสินทรัพย์ในอนาคต สินทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีในอนาคตจะถูกจัดสรรน้ำหนักการลงทุนให้มากกว่าสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มไม่ดี เทคนิคการลงทุนนี้ถือเป็นการกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาด (Dynamic Asset Allocation หรือ Tactical Asset Allocation – TAA) ซึ่งจะถูกคำนวณจาก Black-Litterman Model ที่ถูกพัฒนาโดย Fischer Black และ Robert Litterman

มูลค่าย้อนหลังของพอร์ตการลงทุนตามสภาวะตลาด (Tactical Portfolio) ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2017

          จากการทดสอบเชิงประจักษ์ การกำหนดสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาด (TAA) สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับพอร์ตการลงทุนหลัก (Core Portfolio) ในทุกระดับความเสี่ยง และสามารถลดความผันผวนในทุกพอร์ตการลงทุนยกเว้นพอร์ตความเสี่ยงต่ำ โดยการวิเคราะห์ดังกล่าว ได้รวมผลกระทบที่เกิดจากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมแล้ว เพื่อให้สะท้อนถึงผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงสำหรับลูกค้า โดยสรุปแล้ว พอร์ตการลงทุนที่ถูกปรับตามสภาวะตลาด (TAA) จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับการลงทุนในระยะยาว และช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนในระยะสั้นได้

ส่วนที่ 3 การคัดเลือกกองทุนรวม

          หลังจากกำหนดสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตการลงทุนในแต่ละระดับความเสี่ยงแล้ว กระบวนการถัดไปคือการพิจารณาคัดเลือกกองทุนรวมที่มีความเหมาะสมในการเป็นตัวแทนของแต่ละประเภทสินทรัพย์ (Asset Class) โดยที่ขั้นตอนแรกคือการเลือกวิธีการบริหารจัดการกองทุนที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทสินทรัพย์ ระหว่างวิธีการบริหารจัดการแบบมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง (Passive Fund) กับแบบมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (Active Fund) สินทรัพย์แต่ละประเภทจะถูกนำมาศึกษาในเชิงประจักษ์ว่า การคัดเลือกกองทุน Active Fund ที่ดีที่สุดในประเภทสินทรัพย์นั้น สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีอ้างอิงได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ในกรณีที่สามารถทำได้ แสดงว่าการคัดเลือกกองทุน Active Fund เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับสินทรัพย์ประเภทนั้น แต่ในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ การเลือกลงทุนในกองทุน Passive Fund ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

วิธีการบริหารจัดการกองทุนที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทสินทรัพย์

          ในตลาดการลงทุนโลก กองทุนแบบ Passive Fund นั้นได้รับความนิยมมากกว่ากองทุนแบบ Active Fund เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าและตลาดทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Market Efficiency) ดังนั้น odini จึงคัดเลือก Passive Fund มาเพื่อเป็นตัวแทนสินทรัพย์ประเภทตราสารทุนต่างประเทศ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ) ด้วย โดยในแต่ละเดือนจะมีการคัดเลือกกองทุนรวมแบบ Passive Fund ที่มีความคลาดเคลื่อนจากดัชนีอ้างอิงต่ำ (Low Tracking Error) และมีค่าธรรมเนียมไม่สูง ซึ่งความคลาดเคลื่อนจากดัชนีอ้างอิงนี้จะเป็นปัจจัยที่แสดงถึงความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน

          เนื่องจากในตลาดกองทุนรวมของประเทศไทยนั้น มีจำนวนกองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Fund of Property Funds) น้อยเกินกว่าที่จะทำการวิเคราะห์เชิงปริมาณได้ คณะกรรมการการลงทุนของบริษัทจึงคัดเลือกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ส่วนกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศนั้น odini ใช้วิธีการเชิงปริมาณในการคัดเลือกกองทุนรวมแบบ Active Fund เนื่องจากเป็นการคัดเลือกที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิงได้ในระยะยาวได้

วิธีการคัดเลือก Active Fund ที่ใช้สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศนั้น มาจากสมมติฐานหลักสองประการ คือ

1. กองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีอย่างสม่ำเสมอมากกว่ากองทุนอื่น ๆ จะสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่องในรอบระยะเวลาถัดไป
2. การลงทุนในกลุ่มกองทุนที่มีผลการดำเนินงานรวมดีอย่างสม่ำเสมอหลายกองทุน จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในกองทุนที่ดีที่สุดเพียงกองทุนเดียว

          ในการคัดเลือกกองทุน ผลการดำเนินงานของกองทุนจะถูกคำนวณจากผลตอบแทนย้อนหลังระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน โดยการนำผลตอบแทนย้อนหลังในแต่ละระยะเวลามาคำนวณหา Percentile Rank (PR) เพื่อจัดอันดับเทียบกับกองทุนรวมอื่น ๆ ในประเภทสินทรัพย์เดียวกัน จากนั้นจึงทำการหาค่าเฉลี่ยของ Percentile Rank จากทุกระยะเวลาเพื่อใช้เป็นคะแนนผลการดำเนินงาน (Performance Score) ของกองทุน สำหรับการวิเคราะห์ความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานจะคำนวณจากผลตอบแทนรายเดือนย้อนหลัง 12 เดือนล่าสุด และใช้วิธีการคำนวณหา Percentile Rank เพื่อจัดอันดับอีกครั้ง โดยกองทุนที่อันดับมีความสม่ำเสมอสูงจะได้รับคะแนนความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงาน (Consistency Score) สูง กองทุนที่ได้คะแนนสูงทั้งในด้านผลการดำเนินงานและความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานจะถือว่าเป็นกองทุนที่ดีที่สุดของประเภทสินทรัพย์

การคำนวณคะแนนผลการดำเนินงาน (Performance Score)

          ขั้นตอนถัดไปจะเป็นการใช้วิธีการแบบเดิมตามที่ได้กล่าวมาเพื่อคำนวณหาคะแนนผลการดำเนินงาน (Performance Score) และคะแนนความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงาน (Consistency Score) ของกลุ่มกองทุนจำนวน 3 กองทุน เพื่อคัดเลือกกลุ่มกองทุนที่ดีที่สุดจากทุกกลุ่มกองทุนที่สามารถผสมกันได้ (Combination) ในแต่ละประเภทสินทรัพย์

          ในการทดสอบเชิงประจักษ์ เราจะทำการทดสอบแบบไปข้างหน้า (Forward Testing) เพื่อตรวจสอบว่าการเลือกลงทุนใน Active Fund ที่ดีที่สุดเพียงกองทุนเดียวจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีอ้างอิงได้หรือไม่ และนอกจากนี้จะทำการตรวจสอบด้วยว่า การลงทุนในกลุ่มกองทุน 3 กองทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในกองทุนที่ดีที่สุดเพียงกองทุนเดียวหรือไม่

ผลตอบแทนย้อนหลังของการคัดเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ (Active Fixed Income Fund) ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017

          สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ การเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ดีที่สุดเพียงกองทุนเดียวสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีอ้างอิงได้ถึง 5 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตามการเลือกลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมจำนวน 3 กองทุนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในกองทุนรวมที่ดีที่สุดเพียงกองทุนเดียวได้ หมายความว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีผลการดำเนินงานดีอย่างสม่ำเสมอมากกว่ากองทุนอื่น ๆ สามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และเป็นเรื่องปกติที่จะพบกองทุนรวมตราสารหนี้ที่สามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีได้เช่นนี้ การมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นนี้ เป็นผลมาจากความสามารถของผู้จัดการกองทุนที่สามารถหาตราสารหนี้ที่ดี เพื่อลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง

ผลตอบแทนย้อนหลังของการคัดเลือกกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศ (Active Domestic Equity Fund) ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017

          สำหรับกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศ การเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศที่ดีที่สุดเพียงกองทุนเดียว ให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าดัชนีอ้างอิงเล็กน้อย เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง จึงเป็นเรื่องยากที่กองทุนรวมจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้ดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อสภาวะตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมจำนวน 3 กองทุนกลับสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีอ้างอิงได้ ซึ่งการกระจายความเสี่ยงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุนแบบนี้ การผสมผสานกันระหว่างกองทุนรวมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สูงมาก จะช่วยสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีผลการดำเนินงานที่เหนือกว่าดัชนีอ้างอิงได้

ส่วนที่ 4 การปรับสัดส่วนการลงทุนให้เข้าสู่น้ำหนักการลงทุนที่แนะนำ (Portfolio Rebalancing)

          ในระหว่างการลงทุน ระบบจะทำการเปรียบเทียบน้ำหนักการลงทุนจริงในขณะนั้น ๆ ของนักลงทุนแต่ละรายกับน้ำหนักการลงทุนที่แนะนำอยู่เสมอ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาของสินทรัพย์สามารถส่งผลให้น้ำหนักการลงทุนจริงเบี่ยงเบนไปจากน้ำหนักการลงทุนที่แนะนำอยู่เดิมได้ รวมถึงการปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาด (TAA) ก็สามารถส่งผลให้น้ำหนักการลงทุนที่แนะนำเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สะท้อนมุมมองต่อสินทรัพย์แต่ละประเภท หากน้ำหนักการลงทุนจริงของนักลงทุนเบี่ยงเบนไปจากน้ำหนักการลงทุนที่แนะนำอย่างมีนัยสำคัญ พอร์ตการลงทุนจะถูกปรับสัดส่วนการลงทุนอย่างอัตโนมัติ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน เป็นต้น

          วิธีที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบจากค่าธรรมเนียมดังกล่าวคือ การเพิ่มเงินลงทุนในพอร์ตการลงทุน และการนำเงินปันผลที่ได้รับกลับไปลงทุนต่อ วิธีดังกล่าวเป็นการปรับสัดส่วนการลงทุนโดยใช้กระแสเงินสด (Cash Flow Rebalancing) ซึ่งใน odini นั้น นักลงทุนสามารถทำได้โดยใช้วิธีการ “ลงทุนรายเดือน” ซึ่งระบบจะนำเงินจากบัญชีเงินฝากที่นักลงทุนผูกไว้กับ odini ไปลงทุนให้ในพอร์ตการลงทุนอัตโนมัติเป็นประจำทุกเดือนในจำนวนเงินเท่ากันตามที่นักลงทุนกำหนด

          เมื่อมีการลงทุนเพิ่ม ระบบจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักการลงทุนจริง น้อยกว่าน้ำหนักการลงทุนที่แนะนำ (Underweighted) เพื่อทำให้น้ำหนักการลงทุนใหม่ ใกล้เคียงกับน้ำหนักการลงทุนที่แนะนำมากที่สุด เมื่อสินทรัพย์ทุกประเภทมีน้ำหนักเป็นไปตามน้ำหนักที่แนะนำแล้ว เงินลงทุนส่วนที่เหลือจะถูกแบ่งไปลงทุนตามสัดส่วนที่เหมาะสม กระบวนการปรับสัดส่วนการลงทุนแบบอัตโนมัติดังกล่าว จะช่วยทำให้พอร์ตการลงทุนของนักลงทุนแต่ละรายมีความเหมาะสมและสามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงได้ในระยะยาว

email: [email protected]
www.odiniapp.com call: 0 2026 6222

 

Robowealth Mutual Fund Brokerage Securities Co., Ltd.
6th Floor, Zuellig House Building, 1-7 Silom Road,
Silom, Bangrak, Bangkok 10500, Thailand