ทำไมซื้อกองทุนแล้วชอบเจอคำว่า NAV คำนี้แปลว่าอะไรนะ ?

ทำไมซื้อกองทุนแล้วชอบเจอคำว่า NAV คำนี้แปลว่าอะไรนะ ?

 

ทำไมซื้อกองทุน แล้วชอบเจอคำว่า NAV ? คำนี้แปลว่าอะไร

 

ปกติแล้ว ความถูกแพงของทรัพย์สินต่างๆ มักเปรียบเทียบกันด้วย “ราคา”แต่ในโลกของการลงทุนกองทุนรวม

NAV ซึ่งเป็น “ตัวเลขอ้างอิง” ในการซื้อขายหน่วยลงทุนกองทุนรวม กลับไม่ได้สะท้อนถึง.. ความถูกแพงของกองทุนรวม

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

แล้ว กองทุนรวม เกี่ยวข้องกับ NAV อย่างไร?

 

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก “กองทุนรวม” กันก่อน

 

กองทุนรวม เกิดขึ้นจากการระดมเงินทุนของนักลงทุนรายย่อย เพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แล้วนำเงินดังกล่าว ไปลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ

อาทิ ตราสารทุน, ตราสารหนี้, หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ

 

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือ บลจ. เป็นผู้จัดการกองทุน

 

ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมนี้ จะสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน 2 รูปแบบ นั่นคือ

 

1.เงินปันผล (Dividend)

คือ ส่วนแบ่งกําไรที่นักลงทุนจะได้รับตามสัดส่วนการถือครองหน่วยลงทุน แต่จะขึ้นอยู่กับนโยบายจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมนั้นๆ

 

2.กำไรจากส่วนต่างราคาหน่วยลงทุน (Capital Gain)

คือ ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากขายหน่วยลงทุนได้สูงกว่าต้นทุนหน่วยลงทุนที่ซื้อมา

 

แน่นอนว่าผลตอบแทนอย่าง “เงินปันผล” นักลงทุนสามารถหาข้อมูลได้จากการอ่านรายละเอียดหนังสือชี้ชวนฯ

แต่สำหรับ “กำไรจากส่วนต่างราคา” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับ “ราคาซื้อขายหน่วยลงทุน” ที่เรียกว่า “มูลค่าต่อหน่วยลงทุน (NAVต่อหน่วย) ”ในขณะนั้น โดย มูลค่าต่อหน่วยลงทุน (NAVต่อหน่วย) ที่ว่านี้ เกิดจากการนำ “มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV)” มาหารด้วย “จำนวนหน่วยลงทุน” นั่นเอง.. แล้ว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) คืออะไร?

 

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือ Net Asset Value (NAV) คือ มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งคำนวณมาจาก ผลรวมของมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด (Mark to Market), เงินสด และผลตอบแทนสะสม หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆ ของกองทุนรวม

 

NAV จึงกลายเป็นตัวเลขที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด (Mark to Market) ที่กองทุนรวมได้ลงทุนไว้

 

พูดง่ายๆว่า.. การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของ NAV จะเป็นเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ที่กองทุนได้ทำการลงทุน จึงไม่เกี่ยวข้องกับ ความถูกแพงของกองทุนรวม แต่อย่างไร

 

ซึ่งจุดนี้เอง ที่ทำให้ NAV สะท้อนได้ถึง “มูลค่าแท้จริงของกองทุนรวม” และยังสะท้อนถึง “ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม” อีกด้วย แล้วปัจจัยใด ที่จะทำให้ NAV เปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง?

 

1.มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด (Mark to Market) ยิ่งสูง ยิ่งทำให้ NAV เพิ่มขึ้น เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถือครอง

 

2.เงินสดของกองทุนรวม ยิ่งเงินสดไหลออก ยิ่งทำให้ NAV ลดลง เช่น

-การจ่ายเงินปันผล เพราะเงินปันผลจะถูกจ่ายออกจากกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิของกองทุน

-จำนวนหน่วยลงทุนที่จัดจำหน่ายหรือไถ่ถอน เช่น กองทุนเปิด เป็นกองทุนรวมที่ บลจ. สามารถขายหน่วยลงทุนหรือรับซื้อคืนได้

 

3.ผลตอบแทนสะสมของกองทุนรวม ยิ่งสูง ยิ่งทำให้ NAV เพิ่มขึ้น และยังสะท้อนได้ถึงความสามารถของบลจ. และผู้จัดการกองทุนได้

 

4.ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวม ยิ่งสูง ยิ่งทำให้ NAV ลดลง เช่น ค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุน, ค่าธรรมเนียมด้านการตลาด

 

มาถึงตรงนี้ คงเข้าใจแล้วว่า..

ความสำคัญของ NAV ไม่เพียงแต่จะเป็นราคาอ้างอิงในการซื้อขายหน่วยลงทุน แต่ยังทำหน้าที่สำคัญ คือการสะท้อนมูลค่าแท้จริงของกองทุนรวม ในแต่ละช่วงเวลา นั่นเอง..

 

#odini #ลงทุนง่ายได้ทุกคน

 

 

 

 

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.