10 บริษัทสหรัฐฯ ผู้อยู่รอดแม้เจอ COVID-19

10 บริษัทสหรัฐฯ ผู้อยู่รอดแม้เจอ COVID-19

ในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ หรือเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองเพียงใด แต่จะมีหนึ่งประเภทธุรกิจที่ทนทานต่อสภาวะตลาด และมีกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอ คือ “หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และบริการแพลตฟอร์มออนไลน์” นั่นเอง

 

 

โดยบริษัทที่เรามองว่าน่าสนใจและคัดเลือกมาให้ชาว odinion ทุกท่านมีดังนี้

 

1. Amazon (ยืนหนึ่งเรื่อง E-Commerce ต้อง Amazon)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจค้าปลีก

รายได้ปี 2019: 280,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 20.45% (YoY)

อัตราส่วน P/E: 143.29 เท่า (17/07/2020)

 

Amazon เปรียบดั่งเจ้าพ่อแห่งวงการ E-Commerce ซึ่งมีรายได้จากยอดขายสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น เพราะพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจาก Offline เป็น Online Shopping ในทางเดียวกันรายได้จากธุรกิจ Cloud ก็มีแนวโน้มเติบโตควบคู่กับการเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของลูกค้ารายใหญ่อย่าง Zoom และ Netflix ที่มีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้จำนวนผู้สมัครสมาชิก Amazon Prime เพื่อรับสิทธิประโยชน์ เช่น ความรวดเร็วในการจัดส่งที่มากขึ้นก็ยังคงเติบโตเช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้สมัครบริการดังกล่าวทะลุกว่า 150 ล้านบัญชีทั่วโลก

 

2. Microsoft (นึกถึง Software เพื่อการทำงาน นึกถึง Microsoft)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจซอฟต์แวร์

รายได้ปี 2019: 125,843 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 14.03% (YoY)

อัตราส่วน P/E: 33.98 เท่า (17/07/2020)

 

บริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราแทบทุกคน เช่น Windows, Microsoft Office, Cloud อีกทั้งยังเป็นเจ้าของแอปฯ ชื่อดังอย่าง Skype และ LinkedIn โดยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจ 3 ส่วน ได้แก่

 

1.) Productivity and Business Processes หรือ การให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการทำงานไม่ว่าจะเป็นบริการ Microsoft Office, Linkedin หรือว่า Skype

2.) Intelligent Cloud หรือ ธุรกิจ Multi Cloud Software ซึ่งให้บริการทั้งโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ระบบจัดเก็บข้อมูล อีกทั้งระบบรักษาความปลอดภัย ภายใต้แบรนด์ Microsoft Azure

3.) More Personal Computing หรือ การผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์ Windows คอมพิวเตอร์ รวมถึงฮาร์ดแวร์ เช่น Laptop หรือ Tablet ภายใต้แบรนด์ Surface หรือแม้กระทั่ง Console อย่างเครื่องเล่น Xbox

แม้ว่าจะเกิดการระบาดของ COVID-19 ไปทั่วโลก แต่เราเชื่อว่าผู้คนก็ยังจำเป็นต้องใช้บริการซอฟต์แวร์ในการทำงานของบริษัท Microsoft อยู่ดี

 

3. Facebook (มากกว่าคำว่าสื่อ คือ ความมหัศจรรย์แห่ง Data)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์

รายได้ปี 2019: 70,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 26.62% (YoY)

อัตราส่วน P/E: 33.06 เท่า (17/07/2020)

 

รายได้ของ Facebook ในปี 2019 อยู่ที่ 7.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา คิดเป็น 98.50% โดยพบว่าในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 รายได้ค่าโฆษณาจากธุรกิจ Gaming และ E-Commerce ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ Facebook ยังก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด E-Commerce เองด้วยการเปิดตัวฟีเจอร์ Facebook Shop เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้าออนไลน์สำหรับรายย่อย ทั้งนี้ยังออกฟีเจอร์ที่แปลกใหม่อย่าง Live Shopping ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อของได้ขณะดู Live และ Augmented Reality (AR) Shopping เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจำลองการสวมใส่ผลิตภัณฑ์เสมือนก่อนตัดสินใจซื้อ

 

โดยในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีบริษัทจำนวนมากออกมาประกาศคว่ำบาตรต่อ Facebook เพื่อต่อต้าน Hate Speech ก็กระทบกระเทือนต่อราคาหุ้นของ Facebook เพียงในระยะสั้น โดย Facebook มีจุดเด่นด้านความสามารถในการเก็บ Data เพื่อวิเคราะห์หาความต้องการของผู้บริโภค และนำเสนอการโฆษณาสินค้าที่ตรงกับความต้องการ โดยในปี 2019 Facebook มีฐานข้อมูลที่กว้างใหญ่สะท้อนผ่านจำนวนผู้ใช้รายเดือน (MAU) กว่า 2.6 พันล้านคน

 

4. Netflix (ถ้าอยาก Chill ต้อง Netflix)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจบันเทิง

รายได้ปี 2019: 20,156 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 27.62% (YoY)

อัตราส่วน P/E: 106.74 เท่า (17/07/2020)

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจความบันเทิงบนโลกดิจิทัลก็เติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตกักตัวอยู่ในบ้านมากขึ้น โดยพบว่าในไตรมาสที่ 1/2020 บริษัทมีจำนวนผู้ใช้งานรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 15.8 ล้านคน นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดเด่นของ Netflix คือ การสร้าง Original Content ซึ่งมีบนช่องทางของ Netflix เท่านั้น อีกทั้งบริษัทยังจ้าง Producer ชั้นนำจากแต่ละประเทศซึ่งเข้าใจความต้องการของผู้คนในประเทศนั้นๆ สำหรับการผลิต Content เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า โดยล่าสุด Netflix ได้เปลี่ยนคู่แข่งเข้ามาเป็น Partner ด้วยการตกลงนำ Content ของซีรีส์ไทยใน Line TV จำนวน 8 เรื่อง มาฉายบนแพลตฟอร์มของ Netflix เอเชียจำนวน 18 ประเทศ

 

5. NVIDIA (ดวงตาของคอมพิวเตอร์)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจฮาร์ดแวร์

รายได้ปี 2019: 11,716 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 20.61% (YoY)

อัตราส่วน P/E: 75.79 เท่า (17/07/2020)

 

การ์ดจอนั้นเปรียบเสมือนดวงตาของคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ในการประมวลผลด้านกราฟฟิกสำหรับการทำงาน การเล่นเกมส์ที่มีความละเอียดสูง หรือแม้แต่การขุด Bitcoin เองก็ยังจำเป็นต้องใช้การ์ดจอ

 

หากพูดถึงการ์ดจอ ก็คงไม่พูดถึงบริษัท NVIDIA หรือค่ายการ์ดจอสีเขียวไม่ได้ เนื่องจาก NVIDIA เป็นบริษัทการ์ดจอที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสัดส่วนรายได้จากการขายการ์ดจอในปี 2019 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 86.8% นอกจากนี้บริษัทไม่ได้มีดีแค่การ์ดจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่บริษัทกำลังเร่งพัฒนาระบบ AI รวมถึงระบบประมวลผลสำหรับรถยนต์ไร้คนขับที่เป็นเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตซึ่งจะช่วยให้ยอดขายของ NVIDIA เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอีกด้วย

 

6. Wayfair (ผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์

รายได้ปี 2019: 9,127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 34.63% (YoY)

อัตราส่วน P/E: N/A

 

เมื่อผู้คนหันมา Work From Home มากขึ้น และมีความต้องการ Renovate ห้องเพื่อความสะดวกในการทำงาน ขณะที่ห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัวลง จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจการขายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์กลายเป็นเป้าหมายที่นักลงทุนหลายคนจับตามองในช่วงวิกฤติ COVID-19 นี้ โดยบริษัท Wayfair ผู้ขายเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของสหรัฐฯ มีจุดเด่นในการนำเสนอสินค้าในราคาถูกกว่าท้องตลาด และจัดส่งได้รวดเร็ว โดยรายได้หลักของบริษัทเกือบทั้งหมดมาจากการขายเฟอร์นิเจอร์ผ่านเว็บไซต์หลัก Wayfair.com อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางที่หลากหลายให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าผ่านการขายสินค้าบนเว็บไซต์ Joss & Main ซึ่งเน้นอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน, AllModern เฟอร์นิเจอร์สไตล์เรียบง่าย, Perigold เฟอร์นิเจอร์ไฮเอ็นด์ และ Birch Lane เฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิก

 

7. Peloton (อยู่บ้านก็ผอมได้)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องออกกำลังกาย

รายได้ปี 2019: 915 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 110.34% (YoY)

อัตราส่วน P/E: N/A

 

เมื่อฟิตเนสต้องปิดทำการชั่วคราวในช่วง COVID-19 ทำให้ธุรกิจจำหน่ายเครื่องออกกำลังกาย รวมถึงบริการ Streaming Fitness ที่บ้านเฉิดฉายขึ้น จึงเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของ Peloton ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องออกกำลังกาย เช่น เครื่องปั่นจักรยาน และลู่วิ่งเป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังมีบริการคลาสออกกำลังกายทั้งแบบการถ่ายทอดสดและแบบดูย้อนหลัง โดยนำเสนอค่าบริการต่อเดือนสำหรับฟิตเนสรูปแบบ Boutique อยู่ที่ 97 – 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกกว่าคู่แข่งที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 159 – 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยให้บริษัทมียอดขายเครื่องออกกำลังกายและมีรายได้ค่าสมาชิกออนไลน์รายเดือนเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น

 

8. Teladoc (แอปฯ พบแพทย์คู่กาย อุ่นใจตลอดเวลา)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจเทคโนโลยีสุขภาพ

รายได้ปี 2019: 553 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 32.4 % (YoY)

อัตราส่วน P/E: N/A

 

อยู่บ้านก็พบแพทย์ได้ด้วย Teladoc ขาดไม่ได้เลยสำหรับยุคนี้ที่ทุกคนสามารถพบแพทย์ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะใคร ๆ ก็ไม่กล้าออกจากบ้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ Teladoc เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างรายได้ให้กับบริษัทผ่านแอปฯ หาหมอออนไลน์ (TeleHealth) ที่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์พบกันผ่านมือถือ ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มในลักษณะนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

 

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ยอดผู้ใช้งาน Teladoc เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านตัวเลขผู้ใช้งานในไตรมาสที่ 1/2020 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 61% (YoY) สะสมอยู่ที่ 43 ล้านคน และจากการรายงานของบริษัทระบุว่า 60% ของผู้เข้าพบแพทย์เป็นผู้ใช้งานครั้งแรก สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคนไข้หันมาพบแพทย์จาก Offline สู่ Online มากขึ้น ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งช่วยให้แอปฯ มีแนวโน้มเติบโตได้ในอนาคต

 

9. MarketAxess (ซื้อ-ขายตราสารหนี้ออนไลน์ แสนสะดวกและสบาย)

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน

รายได้ปี 2019: 511.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 17.4 % (YoY)

อัตราส่วน P/E: 91.81 เท่า (17/07/2020)

 

หากกล่าวถึงการซื้อขายตราสารหนี้ ตัวเลือกแรกที่หลายคนนึกถึงคงไม่พ้น MarketAxess ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายตราสารหนี้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Trading) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจกว่า 20 ปี

 

เมื่อผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการเทรดที่ง่ายและสะดวก ทำให้ MarketAxess เข้ามามีบทบาทต่อการบริหารจัดการลงทุนมากขึ้น โดยพบว่าในช่วงที่ตลาดผันผวนเมื่อต้นปี 2020 บริษัทสามารถสร้างรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายตราสารหนี้ผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้มากขึ้น และมีกำไรไตรมาสที่ 1/2020 โตขึ้นกว่า 42.44% (YoY) ด้านภาพระยะยาวบริษัทยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เช่น การนำเอาระบบ Credit Trading Automation มาใช้ เพื่อย้ำจุดยืนในการเป็นผู้นำในแพลตฟอร์มการซื้อขายตราสารหนี้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

 

10. Zoom (Work From Home อย่างมีสไตล์ ทำงานได้ตลอด 24 ชม.) 

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสาร

รายได้ปี 2019: 331 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 118.19% (YoY)

อัตราส่วน P/E: 1,472.44 เท่า (17/07/2020)

 

เมื่อการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องใช้มาตรการ Work From Home ส่งผลให้แอปฯ ประชุมออนไลน์อย่าง Zoom แจ้งเกิดอย่างเฉิดฉาย โดย Zoom มีจุดเด่นเรื่องรูปแบบการใช้งานที่ง่ายและลูกเล่นที่มากกว่า 3 ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, Google และ Microsoft ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับเพื่อน เรียนออนไลน์ หรือแม้แต่การประชุมกับเจ้านาย Zoom จะมีฟิลเตอร์ที่ทำให้ผู้ใช้ดูดีขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในรายละเอียดเล็กๆ ที่ทำให้ Zoom เป็นบริการที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง โดยพบว่าช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา มียอดผู้ดาวน์โหลดแอปฯ สูงขึ้นจาก 56,000 ครั้งในเดือนมกราคม 2020 เป็น 2.13 ล้านครั้งในเดือนมีนาคม 2020 และช่วยให้บริษัทมีรายได้ไตรมาส 1/2020 เติบโตขึ้นกว่า 169.00% (YoY) และช่วยหนุนให้ราคาหุ้นของ Zoom พุ่งขึ้นจนหลายคนต้องจับตามอง

 

Sources: Amazon, Microsoft, Facebook, Netflix, NVIDIA, Wayfair, Peloton, Teladoc, MarketAxess, Zoom, Investing.com, INDEGO, Alphastreet, BusinessofApps, Techcrunch, CNBC, Macrotrends, BBC, Forbes, Bloomberg

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.